แม่น้ำโขงแป็นแม่น้ำอัศจรรย์ มีสิ่งอัศจรรย์มากมายซ่อนอยู่ใต้แม่น้ำซึ่งจะเผยให้เห็นยามหน้าแล้งที่น้ำลดระดับลงนับสิบเมตร และหาดทรายสูง แห่งอำเภอเขมราฐ ก็เป็นหนึ่งในสถานที่ที่เที่ยวได้เมื่อเข้าหน้าแล้งเท่านั้น ด้วยลักษณะภูมิประเทศเหมาะสม ทุกปีกระแสแม่น้ำโขงจะพัดเอาทรายมารวมกันไว้ที่นี่และพอแม่น้ำลดระดับก็จะได้กระแสลมพัดพาทรายเม็ดเล็กเม็ดน้อยมากองทับถมกันจนกลายเป็นเนินทรายริมแม่น้ำ แลดูคล้ายทะเลทรายขนาดย่อม เวลาฤดูท่องเที่ยวมาถึง จะมีการทำซุ้มร้านอาหารริมแม่น้ำ มีกิจกรรมเล่นสไลเดอร์บนเนินทราย นอกจากนี้ยังมีบริเวณที่เป็นแก่งหินสวยงามลักษณะคล้ายกับสามพันโบกให้เที่ยวชมถ่ายรูปอีกด้วย ที่ตั้ง : ริมแม่น้ำโขง บ้านลาดเจริญ ต.นาแวง อ.เขมราฐ จ.อุบลราชธานี เวลาทำการ : ไม่มีกำหนดเปิด-ปิด หาดทรายจะโผล่พ้นน้ำประมาณเดือนธันวาคมถึงพฤษภาคม ช่วงที่ดีที่สุดคือตั้งแต่มกราคมถึงเมษายน ค่าเข้าชม : ไม่มีค่าเข้าชม
ทุนทางสังคมด้านทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Capital)
เขมราฐ
อุทยานแห่งชาติผาแต้ม เป็นอุทยานแห่งชาติที่ตั้งอยูทางตะวันออกสุดของประเทศไทย สามารถรับชมพระอาทิตย์ขึ้นได้เป็นจุดแรกของประเทศไทย ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของจังหวัดอุบลราชธานี จุดที่น่าสนใจคือภาพเขียนสีก่อนประวัติศาสตร์ผาแต้ม ผาหมอน ผาลาย ประติมากรรมธรรมชาติเสาเฉลียง และจุดชมพระอาทิตย์แสงแรกแห่งสยาม อุทยานแห่งชาติผาแต้มมีพื้นที่ราว 340 ตารางกิโลเมตร (212,500 ไร่) เสาเฉลียง เสาเฉลียงเป็นประติมากรรมหินทรายชิ้นเอกจากธรรมชาติ โดยประกอบจากหินทรายสองชุดคือหินทรายยุคครีเตเชียส ชั้นบน (ซึ่งแข็งกว่า) และหินทรายยุคจูแรสซิก ชั้นล่าง (ซึ่งอ่อนกว่า) ถูกกระทำโดยน้ำและลมเป็นเวลายาวนานกว่าร้อยล้านปี จนเกิด "กระบวนการต้านทานทางธรรมชาติ" ซึ่งเป็นแรงกดทับ และแรงธรรมชาติอื่น ๆ ทำให้เม็ดทรายในเนื้อหินเชื่อมประสานกันแน่นขึ้น ส่งผลให้สามารถรักษารูปร่างได้ถึงปัจจุบันนี้ ส่วนชื่อ เสาเฉลียง แผลงมาจากคำว่า "สะเลียง" ซึ่งแปลว่าเสาหิน ผาชะนะได ผาชะนะได เป็นหน้าผาที่มีความสูงชัน ซึ่งเป็นจุดที่เห็นตะวันขึ้นเป็นจุดแรกของประเทศไทย ทิวทัศน์เบื้องล่างจะเป็นแม่น้ำโขงกั้นแบ่งเขต ไทย - ลาว เบื้อง หน้าเป็นภูเขาแดนลาว ที่สลับซับซ้อนมองดูสวยงาม ฤดูหนาว นักท่องเที่ยวจะได้สัมผัสกับความสวยงามของทะเลหมอก เหนือลำน้ำโขง และด้วยเหตุที่เป็นจุดที่เห็นตะวันขึ้นเป็นจุดแรก การรายงานข่าวของสำนักข่าวแห่งประเทศไทยได้เอาเป็นจุดรายงานดวงอาทิตย์ขึ้น เป็นแห่งแรกของประเทศ ผาชะนะได จะมีความหมายว่า การลงชื่อด้วยฝ่ามือ (ชะนะ เป็นคำเพี้ยนมาจากภาษาถิ่นโบราณ ว่า ซะนาม แปลว่าการลงชื่อ ส่วน คำว่าได แปลว่า มือ หรือ ฝ่ามือ ซึ่งจะปรากฏหลักฐานจากสถานที่ใกล้เคียง เช่น ถ้ำฝ่ามือแดง โหง่นแต้ม)
ทุนทางสังคมด้านทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Capital)
โขงเจียม
อัตลักษณ์และความโดดเด่นในด้านต่าง ๆ บ้านผาชัน หมู่ 7 ประชาชนในหมู่บ้าน เป็นชุมชนที่มีทีมผู้นำเข้มแข็งประชาชนมีความสามัคคี ช่วยเหลือเกื้อกูลต่อกัน ซึ่งเป็นทุนทางสังคมของคนชนบท จุดเด่นของชุมชน คือ มีทรัพยากรธรรมชาติคือ แม่น้ำโขง เสาเฉลียงยักษ์ ล้ำโลง ท่าเรือผาชัน ที่ธรรมชาติสร้างขึ้น และมีนวัตกรรมแอร์แว การบริหารจัดการน้ำ ป่าชุมชน เป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญ มีกลุ่มกองทุนปลาที่เกิดจากความร่วมมือของชุมชน บ้านพักโฮมเสตย์ หมู่บ้านผาชัน ถือว่าเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่นักท่องเที่ยวน่ามาเยือนมากแห่งหนึ่ง ตั้งอยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลสำโรง อำเภอโพธิ์ไทร จังหวัดอุบลราชธานี โดยมี “เสาเฉลียงใหญ่” เป็นไฮไลท์หลักของการท่องเที่ยว เสาหินแห่งนี้มีความสูงประมาณ สูง 12 เมตร มีรูปร่างคล้ายกับดอกเห็ด โดยความเชื่อของชุมชนแล้ว ถือว่าเสาเฉลียงนั้นเป็นที่อยู่ของเหล่าวิญญาณของเจ้าเมือง และทหารกล้า ซึ่งเสียชีวิตจากการไปสู้รบในต่างแดน เชื่อกันว่าวิญญาณนั้น จะเป็นผึ้งมารวมกันอยู่บริเวณเสาหิน ทุกๆ วันพระ จะมีเจ้ากวน (ผู้ทรงเจ้า) จากหมู่บ้านไปบูชาทำสืบต่อกันมาจนถึงปัจจุบัน นักท่องเที่ยวจะได้ตื่นตาตื่นใจไปกับความความสวยงามของตลอดสองฝั่งโขง ซึ่งจะมีจุดท่องเที่ยวที่น่าสนใจหลายๆแห่ง ซึ่งประกอบด้วย “เสาเฉลียงใหญ่” เป็นไฮไลท์หลักของผาชัน มีลักษณะเป็นหน้าผาหินที่มีความสูงชัน โดยหน้าผานั้นมีความสูง ประมาณ 40-50 เมตร จากระดับน้ำ ตลอดเส้นทางยาวประมาณ 5 กิโลเมตร นักท่องเที่ยวที่มาเยือนต้องไม่ พลาดการล่องเรือชมทิวทัศของแม่น้ำโขงซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ของตำบลสำโรง ผาตัวเลข หรือชาวบ้านเรียกว่า ผาศิลาเลข เป็นตัวเลขที่ชาวฝรั่งเศสแกะสลักไว้บนหน้าผา เพื่อวัดระดับความสูงของน้ำ ประกอบการเดินเรือในสมัยที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวเป็นเมืองขึ้นของฝรั่งเศส ปรากฏให้เห็นร่องรอยหินแกะสลักจนถึงปัจจุบัน ซึ่งผาตัวเลขอยู่บริเวณริมฝั่งด้านซ้ายมือของท่าเรือบ้านผาชัน ผาหมาว้อ เป็นหน้าผาหินที่มีความสวยงาม จะมีลักษณะเหมือนหัวสุนัขยื่นออกมาชาวบ้านจึงเรียกว่า “ผาหมาว้อ” ผาสามหมื่นรู เป็นหน้าผาหินสูงชันตะปุ่มตะป่ำเกิดจากน้ำโขงไหลวนและกระทบฝั่งเป็นเวลานาน จนทำให้หน้าผาบริเวณนี้เป็นรูมากมายนับไม่ถ้วนชาวบ้านจึงเรียกว่า ผาสามหมื่นรู นอกจากทัศนียภาพทางฝั่งไทยแล้วทางฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขง ที่สวยงามไม่แพ้ฝั่งขวาของเรา เช่น น้ำตกปากห้วยคอง เป็นน้ำตกชั้นเดียว และ น้ำตกปากห้วยบอน เป็นน้ำตก 2 ชั้น ที่ไหลลงมาจากน้ำธรรมชาติของประเทศลาว และไหลลงสู่แม่น้ำโขง
ทุนทางสังคมด้านทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Capital)
โพธิ์ไทร
แหล่งประวัติศาสตร์อนุสรณ์สถานอัฐิของหลวงปู่มั่น เป็นการท่องเที่ยวที่เชื่อมโยงกับจุดสำคัญทางประวัติศาสตร์วิถีวัฒนธรรมของท้องถิ่น และมีการดึงเสน่ห์อันเป็นเอกลักษณ์ของชุมชนออกมาประสานกันให้เกิดความน่าสนใจ เช่น อาหารท้องถิ่น และเส้นทางการท่องเที่ยวชุมชนในเรื่องต่างๆ เชื่อมโยงกับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ใกล้เคียงได้ การเดินทางอาจจะไกลจากตัวจังหวัดเป็นร้อยกว่ากิโลเมตร แต่การคมนาคมสะดวก ผ่านสถานที่ท่องเที่ยวที่น่าสนใจมากมาย สามารถเชื่อมโยงการท่องเที่ยวจากภายในออกมายังภายนอกชุมชนได้ เสน่ห์การท่องเที่ยวแต่ละฤดูกาลต่างกันนักท่องเที่ยวจึงสามารถเข้าไปเยี่ยมชมได้ตลอดทั้งปี หรือจะพักค้างเป็นหมู่คณะเพื่อเรียนรู้วิถีร่วมกับชุมชนก็ได้ โดยมีความพร้อมในการให้บริการทั้งที่พักและมัคคุเทศก์แนะนำพื้นที่ให้กับนักท่องเที่ยว อนุสรณ์สถานอัฐิของหลวงปู่มั่น มีการรักษาประเพณีและวัฒนธรรมที่ดีงาม ซึ่งประเพณีและวัฒนธรรมที่ยังรักษาไว้ คือ วัฒนธรรมฮีต 12 เดือนของชาวอีสาน อาทิ ช่วงเดือนมีนาคมถึงเดือนเมษายน จะเป็นบุญผะเหวด จะมีการแห่ผะเหวดเข้าเมือง และเทศน์มหาชาติ บุญสงกรานต์ จะมีการรดน้ำขอพรผู้สูงอายุ บุญเข้าพรรษา ออกพรรษา บุญข้าวประดับดิน ช่วงเดือนสิงหาคม เพื่ออุทิศส่วนกุศลให้ญาติผู้ล่วงลับ เป็นต้น
ทุนทางสังคมด้านทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Capital)
ศรีเมืองใหม่
มีลักษณะเป็นแนวหาดหินและแก่งหินกว้างใหญ่ ซึ่งในช่วงฤดูฝนแก่งหินเหล่านี้จะจมอยู่ใต้แม่น้ำโขง และด้วยกำลังแรงของกระแสน้ำ จึงกัดเซาะแก่งหินทำให้กลายเป็นแอ่งเล็กใหญ่จำนวนมาก เกิดเป็นประติมากรรมหินธรรมชาติรูปร่างแปลกตาชวนให้จินตนาการ หาดชมดาวมีจุดที่สวยสุดลักษณะเป็นผาหินสูงใหญ่และเว้าแหว่งยาวคล้ายช่องแคบ มีสายน้ำไหลผ่าน และมีก้อนหินเล็กกลางน้ำให้ลงไปยืนถ่ายรูป ช่วงเวลาที่เหมาะสมในการไปเที่ยว คือ เช้าและเย็น เพราะแดดจะไม่ร้อนและถ่ายภาพออกมาได้แสงที่สวยงาม
ทุนทางสังคมด้านทรัพยากรธรรมชาติ (Natural Capital)
นาตาล